เนื่องด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีกำหนดจัดงาน "มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ (อว. แฟร์: SCI POWER FOR FUTURE THAILAND)" วันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนพัฒนา Start-Up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB). ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการ "ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย" ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงผลงาน ซึ่งศูนย์ ฯ ได้ส่งผลงานวิจัยของศูนย์ชุดตรวจภายใต้เครือข่าย จำนวนทั้งหมด 6 ศูนย์ ได้แก่
1. ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (QDD center)
ชื่อผลงาน: Microalbuminuria Rapid Test
รายละเอียดของผลงาน: ชุดแถบทดสอบ Microalbuminuria rapid test จัดเป็นชุดแถบทดสอบแบบ Lateral Flow Immunochromatographic Strip Tests (LFICS) ชนิดรู้ผลรวดเร็วเพื่อตรวจหาไมโครอัลบูมินในปัสสาวะสำหรับคัดกรองโรคไตในระยะเริ่มต้น ณ จุดดูแลผู้ป่วย Point-of-care (POC) โดยผู้เชี่ยวชาญ (Professional use) และสามารถใช้ตรวจด้วยตัวเองได้ง่ายที่บ้าน (Home use) ชุดแถบทดสอบแสดงค่าคัดออกของการตรวจพบ Microalbumin ที่ 20 µg/mL ไม่ต้องใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ที่ยุ่งยาก ให้ผลตรวจรวดเร็วภายในเวลา 15 นาที โดยการใช้ปัสสาวะหยดลงบริเวณแถบทดสอบเท่านั้น และสามารถนำผลทดสอบประกอบการชี้บ่งภาวะโรคไตเบื้องต้น (Microalbuminuria) ในผู้ป่วยได้
2. ห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องมือแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2.1 วัสดุควบคุมคุณภาพประเภทน้ำเหลืองสำหรับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีแอนติบอดี และไวรัสตับอักเสบซีแอนติบอดีโดยชุดตรวจแบบรวดเร็ว: วัสดุควบคุมคุณภาพประเภทน้ำเหลืองที่ผลิตจากน้ำเหลืองจริง มีการศึกษาความเป็นเนื้อเดียวกัน และความคงตัวเพื่อนำมาใช้ในการเตรียมเป็นวัสดุควบคุมคุณภาพสำหรับชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีแอนติบอดี และไวรัสตับอักเสบซีแอนติบอดีโดยชุดตรวจแบบรวดเร็ว สามารถนำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพประจำวัน (Internal Quality Control, IQC) และสำหรับใช้เป็นวัสดุในโปรแกรมทดสอบความชำนาญ
2.2 วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Glucose in Serum: วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Glucose in Serum มีความคงตัว และความเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ในการควบคุมคุณภาพประจำวัน (Internal Quality Control, IQC) และประเมินคุณภาพกับองค์กรภายนอก (External Quality Assurance, EQA) สำหรับการตรวจวัดน้ำตาลในน้ำเหลือง
2.3 วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Cholesterol in Serum: วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Cholesterol in Serum มีความคงตัว และความเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ในการควบคุมคุณภาพประจำวัน (Internal Quality Control, IQC) และประเมินคุณภาพกับองค์กรภายนอก (External Quality Assurance, EQA) สำหรับการตรวจวัด Cholesterol ในน้ำเหลือง
2.4 วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Microalbumin (Urine) ด้วยแถบทดสอบ: วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Microalbumin (Urine) ด้วยแถบทดสอบ มีความคงตัว และความเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ในการควบคุมคุณภาพประจำวัน (Internal Quality Control, IQC) และประเมินคุณภาพกับองค์กรภายนอก (External Quality Assurance, EQA) สำหรับตรวจวัด Microalbumin ในปัสสาวะด้วยแถบทดสอบ
2.5 วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Creatinine in Serum: วัสดุอ้างอิงสำหรับตรวจวัด Creatinine in Serum มีความคงตัว และความเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ในการควบคุมคุณภาพประจำวัน (Internal Quality Control, IQC) และประเมินคุณภาพกับองค์กรภายนอก (External Quality Assurance, EQA) สำหรับการตรวจวัด Creatinine ในน้ำเหลือง
3. ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น (CISMaP)
ชื่อผลงาน: ผลิตภัณฑ์วัสดุควบคุมคุณภาพทางการแพทย์
รายละเอียดของผลงาน: เป็นวัสดุควบคุมคุณภาพ (QC material) สำหรับงานการเพาะเชื้อจากเลือด โดยเป็นวัตถุทดสอบที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องเพาะเชื้อในเลือดแบบอัตโนมัติ และ ทดสอบความชำนาญของเจ้าหน้าที่ทดสอบ (Proficiency testing) แบบ (External Quality Assessment, EQA และ Internal Quality Control; IQC
4. ศูนย์วิจัยและการผลิตเพื่อพัฒนาชุดตรวจโรค และตรวจสอบความปลอดภัยอาหารที่ได้มาตรฐาน มหาวิทยาลัยมหิดล (ADDC)
ชื่อผลงาน:ชุดทดสอบสารอันตรายในเครื่องสำอางและชุดทดสอบฟอร์มาลีนในอาหารประสิทธิภาพสูง
ประกอบด้วย:
4.1 ชุดตรวจสอบความปลอดภัยเครื่องสำอาง
5. หน่วยวิจัยด้านนวัตกรรมเซนเซอร์เพื่อพัฒนาและผลิตชุดทดสอบแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา (RUSI)
ชื่อและรายละเอียดของผลงาน:
5.1 ชุดสกัดสารพันธุกรรมด้วยอนุภาคแม่เหล็ก: ผลิตภัณฑ์ชุดสกัดสารพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีการแยกด้วยแม่เหล็ก โดยอาศัยความสามารถในการดูดซับสารพันธุกรรมบริเวณพื้นผิวของอนุภาคแม่เหล็กร่วมกับเทคนิคการดูดแยกด้วยสนามแม่เหล็ก ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้สามารถใช้ได้กับทั้งระบบการสกัดแบบ manual และการสกัดด้วยเครื่องอัตโนมัติ (automated high-throughput) ซึ่งชุดสกัดสารพันธุกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นมานี้สามารถใช้สกัดสารพันธุกรรมในตัวอย่างหลากหลายชนิด เช่น แบคทีเรีย, buffy coat และเซลล์ จะมีความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดและทดแทนการนำเข้าชุดสกัดจากต่างประเทศได้ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา
5.2 Formalin test kit: ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหารที่ผลิตจากอุปกรณ์ตรวจวัดแบบกระดาษ ใช้งานง่าย อ่านผลได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม สามารถระบุระดับการปนเปื้อนของฟอร์มาลินได้จากการสังเกตขนาดเส้นผ่านศูนย์ของสีที่เกิดขึ้น ไม่มีการรบกวนจากสีของตัวอย่างอาหาร
6. ห้องปฏิบัติการไบโอเซนเซอร์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชื่อผลงาน: เครื่องมือคัดเลือกอสุจิสําหรับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์
รายละเอียดของผลงาน: เป็นเครื่องมือขนาดเล็กกะทัดรัดขนาดเท่ากับกระจกสไลด์ ใช้งานง่าย ตัวเครื่องมือแพทย์ทําจากวัสดุพอลิไดเมทิลซิโลเซน (Polydimethyl siloxane, PDMS) ซึ่งเป็นวัสดุไม่มีสี มีความยืดหยุ่น ไม่เป็นพิษ เครื่องมือแพทย์นี้ประกอบด้วยช่องทางเข้าสําหรับใส่น้ำเชื้อที่ต้องการทดสอบและทางออกสำหรับเก็บน้ำเชื้อที่ผ่านการคัดเลือก โดยระยะระหว่างทางเข้า-ออก มีรูปแบบช่องการ ไหลที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษด้วยเทคนิค Laser lithography ที่มีความละเอียดสูง เพื่อใช้ในการสร้างโครงสร้างระดับขนาดไมโครเมตร ทำหน้าที่ในการคัดกรองและคัดเลือกอสุจิเพื่อนําไปใช้ต่อไป
นอกจากนี้ ศูนย์ CEMB ร่วมกับศูนย์พัฒนาชุดตรวจโรคภายใต้เครือข่ายฯ ได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "นวัตกรรมชุดตรวจวินิจฉัยเพื่อสังคมสุขภาพ" ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุม MR203 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเป็นงานเสวนาเกี่ยวกับความเป็นมาของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย มาตรฐานที่แต่ละศูนย์ฯได้รับ ความถนัดความเชี่ยวชาญ ผลิตภัณฑ์และการให้บริการของแต่ละศูนย์พัฒนาชุดตรวจภายใต้เครือข่ายฯ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณจารุเดช คุณะดิลก ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยผู้พัฒนาและผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ถึงความต้องการของตลาด การแข่งขัน รวมทั้งระบบมาตรฐานต่าง ๆ ของเครื่องมือแพทย์ในปัจจุบัน
**กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการ เครือข่ายศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)